วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรม ดิ ไอเดิล โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ จังหวัดปทุมธานี นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมี นางวรรณี มหานีรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ หัวหน้าส่วน หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัด 18 จังหวัด พนักงานและลูกจ้าง เข้าร่วมกว่า 70 คน

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า การสัมมนาในวันนี้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังในระบบงานของ IT ที่ใช้ในการบริหารสำนักงาน ด้านการจัดการหนี้ และด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีการระดมความคิดเห็นให้เกิดแนวทางที่ชัดเจน เพื่อยกระดับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

เมื่ออบรมเสร็จสิ้นแล้วจะทำให้พนักงานทุกภาคส่วนได้มีกรอบความคิดทางดิจิทัล นำไปใช้พัฒนางานให้มีความทันสมัย เกิดประสิทธิภาพต่อการทำงาน และที่สำคัญคือยกระดับในการให้บริการเกษตรกร ซึ่งทั้งหมดนี้หากมีกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจนจะทำให้การปฏิบัติงานมีความโปร่งใส ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว เกษตรกรได้รับบริการทันท่วงที

อ่านต่อ

วันที่ 10 ส.ค. 66 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานการหารือ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ได้แก่ เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) รองเลขาธิการ ผู้บริหารสำนักจัดการหนี้ฯ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร กรณีลูกหนี้ 4 ธนาคารของรัฐ ซึ่งที่ประชุมได้สอบถามความชัดเจนของมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 และ วันที่ 14 มีนาคม 2566 จากผู้แทน สลค. หลังจากนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการต่อไปตามมติ ครม. ดังกล่าว

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยมี ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนสำนักงาน สคล. ผู้บริหารสำนักงาน กฟก. ผู้แทนจาก กษ. และผู้แทน ธ.ก.ส. มีประเด็นในการหารือ 4 ประเด็น ได้แก่ การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ขัดกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่ การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การรับเงินชำระหนี้จากเกษตรกรในส่วนของร้อยละ 50 และการตั้ง งบประมาณชดเชยให้กับธนาคารเจ้าหนี้ทั้ง 4 แห่ง จะดำเนินการต่อไปอย่างไร กรณีที่เกษตรกรทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และได้ทำการปิดบัญชีชำระหนี้ จำนวน 8 ราย ให้กับ ธ.ก.ส. สำนักงาน กฟก. สามารถตั้งงบประมาณขอเงินชดเชยได้หรือไม่ และ การชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี ผลจากการหารือมีความชัดเจนว่าเกษตรกรสามารถทำสัญญาได้ ส่วนเงินชดเชยให้ กฟก. เสนอ ครม.ขอใช้งบประมาณในปี 2568 ตามขั้นตอน

ข้อสรุปในเบื้องต้นทางธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง โดย ธ.ออมสิน พร้อมทำสัญญาในเร็ววันนี้ ส่วน ธ.อาคารสงเคราะห์และธ. พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ อยู่ระหว่างเสนอบอร์ดพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ ส่วน ธกส. จะนำเรื่องการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินงานภายในวันที่ 24 ส.ค. 66 นี้ ซึ่งในส่วนของเกษตรกรที่มารอให้คำตอบจะยังคงปักหลักรอคำตอบที่ชัดเจนตามกำหนดการที่ทางธนาคารได้แจ้งในที่ประชุมต่อไป

อ่านต่อ

วันที่ 6 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ชั้น 5 กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ร่วมกับ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดอบรมโครงการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่บุคลากรสำนักงาน กฟก. โดยมี นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย ผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสำนักงาน หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมอบรมกว่า 160 คน

วันที่ 2 ของการอบรม ในช่วงเช้า เป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา โดย นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศและรองเลขาธิการสภาทนายความ

หลังจากนั้น นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. ได้กล่าวปิดการอบรมว่า “การจัดอบรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกฟก.เพื่อช่วยเกษตรกรที่ขาดความรู้ด้านกฎหมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหนี้ รวมถึงการติดตามทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม อย่างที่ทราบกันแล้วว่ามีสมาชิก กฟก.จำนวนมากที่ประสบปัญหาหนี้สิน และขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากเจ้าหนี้นำไปสู่การถูกฟ้องร้อง การไม่มีความรู้ด้านกฎหมายทำให้เกษตรกรเสียเปรียบและเป็นที่มาของการถูกยึดทรัพย์ บังคับคดี สูญเสียที่ดินอันเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นสุดท้าย เมื่อมีที่ปรึกษาเข้ามาช่วยเหลือทั้งด้านคดีความและการยุติข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ช่วยเหลือด้านอรรถคดี ทำให้เกษตรกรสมาชิกได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

ในวันนี้สำนักงาน กฟก. ขอขอบคุณ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และผู้บริหารของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกท่านที่ให้ความรู้ เป็นเกียรติกับสำนักงานเป็นอย่างยิ่ง ความรู้ที่ได้จะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่เกษตรกรในการแบ่งเบาความทุกข์เมื่อถูกดำเนินคดี และเป็นช่องทางในการต่อสู้คดีตามกฎหมายได้”

อ่านต่อ

วันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่สำนักงาน กพ. (หลังเก่า) นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. พร้อมด้วย นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ร่วมประชุมหารือการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธอส. ธ.ออมสิน และ ธพว. โดยมีตัวแทนจาก ธ.ก.ส. ผู้แทน สนง.เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และตัวแทนฝ่ายเกษตรกร นำโดย นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) และทีมงาน เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการหารือ

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ได้รับหนังสือจากสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ขอให้ประสานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบและหารือการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ฯ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 และ วันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการแล้วโดย กฟก. และ ธ.ก.ส. ได้ทำสัญญาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2566 มีเกษตรกรได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ 50,621 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรมารายงานตัวแล้ว 33,970 ราย ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 24,934 ราย จัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 191 ราย และได้ชำระหนี้ปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. แล้ว 8 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอทำสัญญา และติดตามประสานให้เกษตรกรมารายงานตัว

จากกรณีที่มีเกษตรกรจำนวน 8 รายได้ชำระหนี้ปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. แล้วเสร็จ จึงเป็นเหตุให้ ธ.ก.ส. ขอทราบแนวทางการขอรับงบประมาณชดเชยของเงินต้นครึ่งหลังร้อยละ 50 และดอกเบี้ยพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยให้เจ้าหนี้ภายใต้กรอบวงเงินและแนวทางที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว จากนั้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 66 กฟก.พร้อมด้วยธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ได้เข้าพบผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ(สงป.) และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยผู้แทนสศค.ได้ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณอาจเข้าข่าย พรบ.วินัยการเงิน การคลัง ตามมาตรา 28 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบกรอบงบประมาณจากครม.ก่อนจึงจะเบิกจ่ายงบประมาณชดเชยได้เป็นเหตุให้ ธ.ก.ส.ชะลอการสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถของบประมาณชดเชยในส่วนที่รัฐบาลต้องรับภาระจ่ายให้เจ้าหนี้ได้

ในส่วนของ กฟก. มีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ได้มีหนังสือยืนยันว่าโครงการดังกล่าว ครม.ได้ ประกอบกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ได้อนุมัติในหลักการและให้ดำเนินการทำสัญญาได้แล้ว ส่วนงบประมาณที่ขอชดเชยให้เจ้าหนี้นั้น กองทุนฯ จะเริ่มขอใช้งบประมาณในปี 68 เป็นต้นไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรอบงบประมาณปี 66-67 ตามที่ สศค.ให้ความเห็น โดยกองทุนฯ จะเสนอเรื่องเข้า ครม. เพื่อขอเงินชดเชยให้เจ้าหนี้เป็นปี ๆ ไปตามจำนวนที่เกษตรกรได้ปิดบัญชี และขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนมากกว่า 2.5 หมื่นรายกำลังรอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ฯ ซึ่งทุกอย่างได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงความชัดเจนจากทางสถาบันเจ้าหนี้เท่านั้น

ผลจากการหารือร่วมกัน ได้ข้อสรุปว่าเกษตรกรสามารถทำสัญญาได้ ส่วนเงินชดเชยให้ กฟก.เสนอ ครม.ขอใช้งบประมาณในปี 68 ส่วนกรณีเกษตรกร 8 รายที่ปิดบัญชีไปแล้วนั้นเป็นภาระที่ ธ.ก.ส. ต้องรับภาระไปก่อนแล้วค่อยเสนอขอชดเชยในปี 68 ต่อไป

อ่านต่อ

วันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. นำคณะผู้บริหารและพนักงานสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสมาชิกในการปลูกพืชสมุนไพรและแปรรูปส่งออกไปยังประเทศจีน มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ 2 ฉบับ

ฉบับแรก ระหว่าง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กับ สมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี นำโดย นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิยม ลออปักษิณ นายกสมาคมพัฒนาแพทย์ทางเลือกไทยจีนโดยมีนายกำพล มหานุกูล ประธานกรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ เป็นพยาน

โดยหน้าที่ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร.มีหน้าที่เตรียมความพร้อมของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร.และจัดส่งข้อมูลของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้กับสมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี และหน้าที่ของสมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อการปลูกพืชสมุนไพร การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป และการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อส่งแปรรูปที่โรงงานของประเทศจีนที่อยู่ในประเทศไทยและส่งออกสมุนไพรไทยแปรรูปไปยังประเทศจีน

ฉบับที่สองการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดนครสวรรค์ กับ บริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด นำโดย นางทิพวรรณ์ เกตุหนู หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดนครสวรรค์ นายถาวร เผด็จสุวันนุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด โดยมี นายชนะชัย แซ่เล้า ประธานองค์กรกลุ่มโคขุนพัฒนาบ้านใหม่ หมู่ 18 จังหวัดนครสวรรค์ และ นายรัตนกุล โพธิ ผู้อำนวยการสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 1 เป็นพยาน

โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดนครสวรรค์.มีหน้าที่เตรียมความพร้อมของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ รวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกถั่วเขียว จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และจัดส่งข้อมูลของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้กับบริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด และหน้าที่ของบริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด มีหน้าที่เป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว มาให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดนครสวรรค์ และต้องรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยบริษัทจะประกันราคารับซื้อ

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อรวบรวมผลผลิต แปรรูป ส่งออกประเทศจีน โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ร่วมกับ สมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี มีพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่นำร่อง มีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 2,000 ไร่ ภายใต้เงื่อนไข บริษัทนายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ได้ตกลงรับซื้อถั่วเขียวผลผลิตของเกษตรกร ในแปลงต้นแบบที่ปลูกเพื่อคัดพันธ์เจือปนออก โดยนำเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะขยายพื้นที่ปลูกถั่วเขียวต่อไปในแปลงเครือข่ายสมาชิกต่อไป ขณะนี้ผลผลิตถั่วเขียวของเกษตรกรที่ร่วมโครงการจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง เป็นก้าวสำคัญของ กฟก. กับหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ ฮอล 7 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สไกร พิมพ์บึงเลขาธิการสำนักงาน กฟก. และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดงานการตลาดสินค้าท้องถิ่นสีเขียว Thailand Local BCG Plus Expo 2023 จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการกลาดสินค้าผู้ประกอบการรายย่อย(SME) เพื่อเปิดช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เปิดงานโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายกีรติ รัชโน) ผู้ร่วมงานประกอบด้วย อธิบดีกรมต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัดจากทั่วประเทศ ฑูตพาณิชย์จาก 48 ประเทศทั่วโลก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และแขกรับเชิญจากภาคราชการเอกชน และผู้ประกอบการสินค้ารายย่อย 200 ราย จากทั่วประเทศ โดยมีการถ่ายทอดสดพิธีเปิดไปยัง 48 ประเทศทั่วโลก ในงานมีการจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตทั้ง 200 ราย จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 7-9 กรกฎาคม 2566

อ่านต่อ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นประธานจัดกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีอายุครบ 24 ปี โดยมี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานบริหารคนที่ 1 นายสำเริง ปานชาติ รองประธานบริหารคนที่ 2 รองเลขาธิการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกระดับ ได้ร่วมพิธีทำบุญครบรอบวันสถาปนากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 24 ปี พร้อมนี้ยังได้ทำการถ่ายทอดสดผ่านระบบ conference ไปยังสำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 77 แห่ง ภายใต้ความปลื้มปิติของคณะผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกคน โดยมีอดีตผู้บริหารที่เกษียณอายุการปฏิบัติงานแล้ว 2 ท่าน คือ นายเกรียงไกร ปาลอ่อง และนายกอบเกียรติ ศรีคราม เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้บอกเล่าเรื่องราวปฐมเหตุในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า “ผมมีประสบการณ์ตรง กว่าจะจัด ตั้งขึ้นมาเป็น กฟก. มีประสบการณ์จากชีวิตจริง เขียนหนังสือไว้ 3 เล่ม ได้แก่ ประวัติความเป็นมาในการก่อตั้ง แนวปฏิบัติว่าด้วยการฟื้นฟูฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ฯ กำลังรวบรวมจัดทำเนื้อหาย่อ ๆ เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ กฟก. มูลเหตุเริ่มต้นเกิดจากหลังปี 2538 มูลนิธิเกษตรกรไทย โดย คุณอโศก ประสานสอน ได้ทำเรื่องขอผ่อนผันหนี้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ กับ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรกว่า 17,000 ครอบครัวได้รับความเดือนร้อน เหลืออยู่กว่า 3,000 กว่าครอบครัว ได้รับการผ่อนผันโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวม 144 ล้านบาท นี่คือจุดเริ่มต้นของเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรตื่นตัวเรียกร้องสิทธิให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ เรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อเกษตรกรที่แท้จริง มีการร่วมลงชื่อเกษตรกรจาก 24 จังหวัด ใช้ระยะเวลา 1 เดือนเศษ มีเกษตรกรร่วมลงชื่อกว่า 130,000 ราย มาจากองค์กรร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ชุมนุมเกษตรกรขอนแก่น ชุมนุมเกษตรกรชาวไร่อ้อย เกิดเป็นแนวร่วมสถาบันเกษตรกรเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล มีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการกับภาคเกษตรกร สุดท้ายมีการประท้วงที่หน้าศาลากลางเรียกร้องเพื่อให้ได้กฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งได้รวบรวมประวัติความเป็นมาไว้ทั้งหมด โดยจัดพิมพ์ไว้ 2 หมื่นเล่ม เพื่อให้พนักงานรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของกองทุนฯ

จนกระทั่งมาถึงปี 2538 – 2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต มีการตั้งกรรมการร่วมแต่ไม่มีความคืบหน้า จนในปี 2541 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มีการตั้งกรรมการร่วมเพื่อยกร่าง พรบ. และผลักดันเข้าสู่ในสภาผู้แทนราษฎร เกิดเป็นกฎหมายในสมัยรัฐบาลนายชวน ช่วงเดือน พ.ค. 2542 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้น ได้มีกระแสให้องค์กรภาคเกษตรกรมีการยื่นเสนอกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อเกษตรกร เป็นมหากาพย์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีการทำประชาพิจารณ์ เกิดการมีส่วนร่วมจากทั้ง 4 ภาค ในตอนนั้นกฎหมายได้บรรจุวาระเข้าสภาแล้วแต่อยู่ในวาระท้ายๆ ทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องกันที่สนามหลวง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ถึง 12 ก.พ. 2542 นับเป็นการเรียกร้อง ที่ใช้เวลานานที่สุด และในที่สุดก็ผ่านความเห็นชอบจากสภา ในเดือน พ.ค.จึงได้มีการประกาศใช้ เป็นจุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ. กฟก.อย่างแท้จริง

ภายหลังกฎหมายบังคับใช้แล้วการทำงานก็ไม่ได้มีความราบรื่น กว่าจะมีการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จนปี 2544 แล้วก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร 4 ภาค เพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายตามกฎหมาย จนถึงวันนี้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรแล้ว 7 ครั้ง นับว่าคณะกรรมการในชุดนี้ได้มีการผลักดันงานให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว 3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อหามีความทันสมัยและตรงกับความเดือดร้อนมากที่สุด

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในอดีตที่ผ่านมาคือ การกำหนดวาระของคณะกรรมการที่กำหนดไว้เพียง 2 ปี เมื่อหมดวาระก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องได้ เกิดสูญญากาศขึ้นตลอดมา จนมีการแก้ไขให้กรรมการมีวาระ 4 ปี เกิดการอนุมัติแผนและโครงการ มีการซื้อหนี้ให้เกษตรกรครั้งแรก เมื่อปี 2549 ใช้เวลา 7 ปี ถึงจะเริ่มมีการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปตามภารกิจที่กำหนดไว้ได้ สิ่งที่เป็นปัญหาอีกเรื่องคือ กฟก.ไม่ได้รับงบประมาณต่อเนื่องในการช่วยเหลือเกษตรกร

ในปี 2562 มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งเรื่องงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่อรวมกันแล้วเป็นเงินมากกว่างบประมาณประเดิมหมุนเวียน เมื่อปี 2563-2566 กฟก.ได้รับงบประมาณเป็นจำนวนรวมมากกว่าจำนวนงบประมาณที่ได้รับมา กว่า 20 ปี ซึ่งการผลักดันเรียกร้องงบประมาณในแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องบอกว่าการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมในสายตาสาธารณชน

ในโอกาสที่ครบรอบ 24 ปี ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าภารกิจของ กฟก.ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นว่า กองทุนฯ เป็นภาระต่อรัฐบาล แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กองทุนฟื้นฟูฯมีตัวตน อยู่จริง พูดได้อย่างสง่าผ่าเผยว่ากองทุนได้เดินหน้าทำงานตามกฎหมาย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้บริการเกษตรกร รับผิดชอบในฐานะเป็นพนักงานของรัฐด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 25 อย่างภาคภูมิใจ ภายใต้โครงสร้างที่ครบถ้วนสมบูรณ์ การทำงานจะไม่เกิดสูญญากาศอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา ขอบคุณทุกคนที่เสียสละทุ่มเท กระตือรือร้นให้งานสำเร็จ เป้าหมายการทำงานในปีนี้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มาร่วมกันแสดงฝีมือให้ทุกภาคส่วนเห็นว่า กฟก.เราเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่น้อยกว่าหน่วยงานอื่น

หลังจากนั้น นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร กฟก. ได้กล่าวขอบคุณทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจเสียสละทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเกษตรกร แบ่งเบาภาระหนี้สินให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กฟก.จะเติบโตขึ้นตามวัยที่เหมาะสม ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป

อ่านต่อ