วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นประธานจัดกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีอายุครบ 24 ปี โดยมี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานบริหารคนที่ 1 นายสำเริง ปานชาติ รองประธานบริหารคนที่ 2 รองเลขาธิการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกระดับ ได้ร่วมพิธีทำบุญครบรอบวันสถาปนากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 24 ปี พร้อมนี้ยังได้ทำการถ่ายทอดสดผ่านระบบ conference ไปยังสำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 77 แห่ง ภายใต้ความปลื้มปิติของคณะผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกคน โดยมีอดีตผู้บริหารที่เกษียณอายุการปฏิบัติงานแล้ว 2 ท่าน คือ นายเกรียงไกร ปาลอ่อง และนายกอบเกียรติ ศรีคราม เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้บอกเล่าเรื่องราวปฐมเหตุในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า “ผมมีประสบการณ์ตรง กว่าจะจัด ตั้งขึ้นมาเป็น กฟก. มีประสบการณ์จากชีวิตจริง เขียนหนังสือไว้ 3 เล่ม ได้แก่ ประวัติความเป็นมาในการก่อตั้ง แนวปฏิบัติว่าด้วยการฟื้นฟูฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ฯ กำลังรวบรวมจัดทำเนื้อหาย่อ ๆ เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ กฟก. มูลเหตุเริ่มต้นเกิดจากหลังปี 2538 มูลนิธิเกษตรกรไทย โดย คุณอโศก ประสานสอน ได้ทำเรื่องขอผ่อนผันหนี้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ กับ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรกว่า 17,000 ครอบครัวได้รับความเดือนร้อน เหลืออยู่กว่า 3,000 กว่าครอบครัว ได้รับการผ่อนผันโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวม 144 ล้านบาท นี่คือจุดเริ่มต้นของเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรตื่นตัวเรียกร้องสิทธิให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ เรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อเกษตรกรที่แท้จริง มีการร่วมลงชื่อเกษตรกรจาก 24 จังหวัด ใช้ระยะเวลา 1 เดือนเศษ มีเกษตรกรร่วมลงชื่อกว่า 130,000 ราย มาจากองค์กรร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ชุมนุมเกษตรกรขอนแก่น ชุมนุมเกษตรกรชาวไร่อ้อย เกิดเป็นแนวร่วมสถาบันเกษตรกรเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล มีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการกับภาคเกษตรกร สุดท้ายมีการประท้วงที่หน้าศาลากลางเรียกร้องเพื่อให้ได้กฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งได้รวบรวมประวัติความเป็นมาไว้ทั้งหมด โดยจัดพิมพ์ไว้ 2 หมื่นเล่ม เพื่อให้พนักงานรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของกองทุนฯ

จนกระทั่งมาถึงปี 2538 – 2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต มีการตั้งกรรมการร่วมแต่ไม่มีความคืบหน้า จนในปี 2541 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มีการตั้งกรรมการร่วมเพื่อยกร่าง พรบ. และผลักดันเข้าสู่ในสภาผู้แทนราษฎร เกิดเป็นกฎหมายในสมัยรัฐบาลนายชวน ช่วงเดือน พ.ค. 2542 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้น ได้มีกระแสให้องค์กรภาคเกษตรกรมีการยื่นเสนอกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อเกษตรกร เป็นมหากาพย์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีการทำประชาพิจารณ์ เกิดการมีส่วนร่วมจากทั้ง 4 ภาค ในตอนนั้นกฎหมายได้บรรจุวาระเข้าสภาแล้วแต่อยู่ในวาระท้ายๆ ทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องกันที่สนามหลวง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ถึง 12 ก.พ. 2542 นับเป็นการเรียกร้อง ที่ใช้เวลานานที่สุด และในที่สุดก็ผ่านความเห็นชอบจากสภา ในเดือน พ.ค.จึงได้มีการประกาศใช้ เป็นจุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ. กฟก.อย่างแท้จริง

ภายหลังกฎหมายบังคับใช้แล้วการทำงานก็ไม่ได้มีความราบรื่น กว่าจะมีการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จนปี 2544 แล้วก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร 4 ภาค เพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายตามกฎหมาย จนถึงวันนี้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรแล้ว 7 ครั้ง นับว่าคณะกรรมการในชุดนี้ได้มีการผลักดันงานให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว 3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อหามีความทันสมัยและตรงกับความเดือดร้อนมากที่สุด

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในอดีตที่ผ่านมาคือ การกำหนดวาระของคณะกรรมการที่กำหนดไว้เพียง 2 ปี เมื่อหมดวาระก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องได้ เกิดสูญญากาศขึ้นตลอดมา จนมีการแก้ไขให้กรรมการมีวาระ 4 ปี เกิดการอนุมัติแผนและโครงการ มีการซื้อหนี้ให้เกษตรกรครั้งแรก เมื่อปี 2549 ใช้เวลา 7 ปี ถึงจะเริ่มมีการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปตามภารกิจที่กำหนดไว้ได้ สิ่งที่เป็นปัญหาอีกเรื่องคือ กฟก.ไม่ได้รับงบประมาณต่อเนื่องในการช่วยเหลือเกษตรกร

ในปี 2562 มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งเรื่องงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่อรวมกันแล้วเป็นเงินมากกว่างบประมาณประเดิมหมุนเวียน เมื่อปี 2563-2566 กฟก.ได้รับงบประมาณเป็นจำนวนรวมมากกว่าจำนวนงบประมาณที่ได้รับมา กว่า 20 ปี ซึ่งการผลักดันเรียกร้องงบประมาณในแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องบอกว่าการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมในสายตาสาธารณชน

ในโอกาสที่ครบรอบ 24 ปี ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าภารกิจของ กฟก.ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นว่า กองทุนฯ เป็นภาระต่อรัฐบาล แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กองทุนฟื้นฟูฯมีตัวตน อยู่จริง พูดได้อย่างสง่าผ่าเผยว่ากองทุนได้เดินหน้าทำงานตามกฎหมาย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้บริการเกษตรกร รับผิดชอบในฐานะเป็นพนักงานของรัฐด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 25 อย่างภาคภูมิใจ ภายใต้โครงสร้างที่ครบถ้วนสมบูรณ์ การทำงานจะไม่เกิดสูญญากาศอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา ขอบคุณทุกคนที่เสียสละทุ่มเท กระตือรือร้นให้งานสำเร็จ เป้าหมายการทำงานในปีนี้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มาร่วมกันแสดงฝีมือให้ทุกภาคส่วนเห็นว่า กฟก.เราเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่น้อยกว่าหน่วยงานอื่น

หลังจากนั้น นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร กฟก. ได้กล่าวขอบคุณทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจเสียสละทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเกษตรกร แบ่งเบาภาระหนี้สินให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กฟก.จะเติบโตขึ้นตามวัยที่เหมาะสม ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป