วันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. นำคณะผู้บริหารและพนักงานสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสมาชิกในการปลูกพืชสมุนไพรและแปรรูปส่งออกไปยังประเทศจีน มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ 2 ฉบับ

ฉบับแรก ระหว่าง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กับ สมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี นำโดย นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิยม ลออปักษิณ นายกสมาคมพัฒนาแพทย์ทางเลือกไทยจีนโดยมีนายกำพล มหานุกูล ประธานกรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ เป็นพยาน

โดยหน้าที่ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร.มีหน้าที่เตรียมความพร้อมของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร.และจัดส่งข้อมูลของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้กับสมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี และหน้าที่ของสมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อการปลูกพืชสมุนไพร การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป และการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อส่งแปรรูปที่โรงงานของประเทศจีนที่อยู่ในประเทศไทยและส่งออกสมุนไพรไทยแปรรูปไปยังประเทศจีน

ฉบับที่สองการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดนครสวรรค์ กับ บริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด นำโดย นางทิพวรรณ์ เกตุหนู หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดนครสวรรค์ นายถาวร เผด็จสุวันนุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด โดยมี นายชนะชัย แซ่เล้า ประธานองค์กรกลุ่มโคขุนพัฒนาบ้านใหม่ หมู่ 18 จังหวัดนครสวรรค์ และ นายรัตนกุล โพธิ ผู้อำนวยการสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 1 เป็นพยาน

โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดนครสวรรค์.มีหน้าที่เตรียมความพร้อมของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ รวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกถั่วเขียว จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และจัดส่งข้อมูลของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้กับบริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด และหน้าที่ของบริษัท นายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด มีหน้าที่เป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว มาให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดนครสวรรค์ และต้องรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยบริษัทจะประกันราคารับซื้อ

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อรวบรวมผลผลิต แปรรูป ส่งออกประเทศจีน โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ร่วมกับ สมาคมพัฒนาการแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี มีพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่นำร่อง มีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 2,000 ไร่ ภายใต้เงื่อนไข บริษัทนายฮั่ง อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ได้ตกลงรับซื้อถั่วเขียวผลผลิตของเกษตรกร ในแปลงต้นแบบที่ปลูกเพื่อคัดพันธ์เจือปนออก โดยนำเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะขยายพื้นที่ปลูกถั่วเขียวต่อไปในแปลงเครือข่ายสมาชิกต่อไป ขณะนี้ผลผลิตถั่วเขียวของเกษตรกรที่ร่วมโครงการจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง เป็นก้าวสำคัญของ กฟก. กับหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น

วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ ฮอล 7 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สไกร พิมพ์บึงเลขาธิการสำนักงาน กฟก. และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดงานการตลาดสินค้าท้องถิ่นสีเขียว Thailand Local BCG Plus Expo 2023 จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการกลาดสินค้าผู้ประกอบการรายย่อย(SME) เพื่อเปิดช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เปิดงานโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายกีรติ รัชโน) ผู้ร่วมงานประกอบด้วย อธิบดีกรมต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัดจากทั่วประเทศ ฑูตพาณิชย์จาก 48 ประเทศทั่วโลก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และแขกรับเชิญจากภาคราชการเอกชน และผู้ประกอบการสินค้ารายย่อย 200 ราย จากทั่วประเทศ โดยมีการถ่ายทอดสดพิธีเปิดไปยัง 48 ประเทศทั่วโลก ในงานมีการจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตทั้ง 200 ราย จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 7-9 กรกฎาคม 2566

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นประธานจัดกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีอายุครบ 24 ปี โดยมี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานบริหารคนที่ 1 นายสำเริง ปานชาติ รองประธานบริหารคนที่ 2 รองเลขาธิการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกระดับ ได้ร่วมพิธีทำบุญครบรอบวันสถาปนากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 24 ปี พร้อมนี้ยังได้ทำการถ่ายทอดสดผ่านระบบ conference ไปยังสำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 77 แห่ง ภายใต้ความปลื้มปิติของคณะผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกคน โดยมีอดีตผู้บริหารที่เกษียณอายุการปฏิบัติงานแล้ว 2 ท่าน คือ นายเกรียงไกร ปาลอ่อง และนายกอบเกียรติ ศรีคราม เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้บอกเล่าเรื่องราวปฐมเหตุในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า “ผมมีประสบการณ์ตรง กว่าจะจัด ตั้งขึ้นมาเป็น กฟก. มีประสบการณ์จากชีวิตจริง เขียนหนังสือไว้ 3 เล่ม ได้แก่ ประวัติความเป็นมาในการก่อตั้ง แนวปฏิบัติว่าด้วยการฟื้นฟูฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ฯ กำลังรวบรวมจัดทำเนื้อหาย่อ ๆ เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ กฟก. มูลเหตุเริ่มต้นเกิดจากหลังปี 2538 มูลนิธิเกษตรกรไทย โดย คุณอโศก ประสานสอน ได้ทำเรื่องขอผ่อนผันหนี้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ กับ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรกว่า 17,000 ครอบครัวได้รับความเดือนร้อน เหลืออยู่กว่า 3,000 กว่าครอบครัว ได้รับการผ่อนผันโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวม 144 ล้านบาท นี่คือจุดเริ่มต้นของเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรตื่นตัวเรียกร้องสิทธิให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ เรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อเกษตรกรที่แท้จริง มีการร่วมลงชื่อเกษตรกรจาก 24 จังหวัด ใช้ระยะเวลา 1 เดือนเศษ มีเกษตรกรร่วมลงชื่อกว่า 130,000 ราย มาจากองค์กรร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ชุมนุมเกษตรกรขอนแก่น ชุมนุมเกษตรกรชาวไร่อ้อย เกิดเป็นแนวร่วมสถาบันเกษตรกรเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล มีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการกับภาคเกษตรกร สุดท้ายมีการประท้วงที่หน้าศาลากลางเรียกร้องเพื่อให้ได้กฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งได้รวบรวมประวัติความเป็นมาไว้ทั้งหมด โดยจัดพิมพ์ไว้ 2 หมื่นเล่ม เพื่อให้พนักงานรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของกองทุนฯ

จนกระทั่งมาถึงปี 2538 – 2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต มีการตั้งกรรมการร่วมแต่ไม่มีความคืบหน้า จนในปี 2541 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มีการตั้งกรรมการร่วมเพื่อยกร่าง พรบ. และผลักดันเข้าสู่ในสภาผู้แทนราษฎร เกิดเป็นกฎหมายในสมัยรัฐบาลนายชวน ช่วงเดือน พ.ค. 2542 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้น ได้มีกระแสให้องค์กรภาคเกษตรกรมีการยื่นเสนอกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อเกษตรกร เป็นมหากาพย์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีการทำประชาพิจารณ์ เกิดการมีส่วนร่วมจากทั้ง 4 ภาค ในตอนนั้นกฎหมายได้บรรจุวาระเข้าสภาแล้วแต่อยู่ในวาระท้ายๆ ทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องกันที่สนามหลวง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ถึง 12 ก.พ. 2542 นับเป็นการเรียกร้อง ที่ใช้เวลานานที่สุด และในที่สุดก็ผ่านความเห็นชอบจากสภา ในเดือน พ.ค.จึงได้มีการประกาศใช้ เป็นจุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ. กฟก.อย่างแท้จริง

ภายหลังกฎหมายบังคับใช้แล้วการทำงานก็ไม่ได้มีความราบรื่น กว่าจะมีการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จนปี 2544 แล้วก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร 4 ภาค เพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายตามกฎหมาย จนถึงวันนี้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรแล้ว 7 ครั้ง นับว่าคณะกรรมการในชุดนี้ได้มีการผลักดันงานให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว 3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อหามีความทันสมัยและตรงกับความเดือดร้อนมากที่สุด

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในอดีตที่ผ่านมาคือ การกำหนดวาระของคณะกรรมการที่กำหนดไว้เพียง 2 ปี เมื่อหมดวาระก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องได้ เกิดสูญญากาศขึ้นตลอดมา จนมีการแก้ไขให้กรรมการมีวาระ 4 ปี เกิดการอนุมัติแผนและโครงการ มีการซื้อหนี้ให้เกษตรกรครั้งแรก เมื่อปี 2549 ใช้เวลา 7 ปี ถึงจะเริ่มมีการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปตามภารกิจที่กำหนดไว้ได้ สิ่งที่เป็นปัญหาอีกเรื่องคือ กฟก.ไม่ได้รับงบประมาณต่อเนื่องในการช่วยเหลือเกษตรกร

ในปี 2562 มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งเรื่องงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่อรวมกันแล้วเป็นเงินมากกว่างบประมาณประเดิมหมุนเวียน เมื่อปี 2563-2566 กฟก.ได้รับงบประมาณเป็นจำนวนรวมมากกว่าจำนวนงบประมาณที่ได้รับมา กว่า 20 ปี ซึ่งการผลักดันเรียกร้องงบประมาณในแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องบอกว่าการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมในสายตาสาธารณชน

ในโอกาสที่ครบรอบ 24 ปี ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าภารกิจของ กฟก.ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นว่า กองทุนฯ เป็นภาระต่อรัฐบาล แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กองทุนฟื้นฟูฯมีตัวตน อยู่จริง พูดได้อย่างสง่าผ่าเผยว่ากองทุนได้เดินหน้าทำงานตามกฎหมาย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้บริการเกษตรกร รับผิดชอบในฐานะเป็นพนักงานของรัฐด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 25 อย่างภาคภูมิใจ ภายใต้โครงสร้างที่ครบถ้วนสมบูรณ์ การทำงานจะไม่เกิดสูญญากาศอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา ขอบคุณทุกคนที่เสียสละทุ่มเท กระตือรือร้นให้งานสำเร็จ เป้าหมายการทำงานในปีนี้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มาร่วมกันแสดงฝีมือให้ทุกภาคส่วนเห็นว่า กฟก.เราเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่น้อยกว่าหน่วยงานอื่น

หลังจากนั้น นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร กฟก. ได้กล่าวขอบคุณทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจเสียสละทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเกษตรกร แบ่งเบาภาระหนี้สินให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กฟก.จะเติบโตขึ้นตามวัยที่เหมาะสม ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30 น ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้เป็นประธานมอบเช็คชำระหนี้และรับมอบโฉนดที่ดินของเกษตรกรคืนจากสหกรณ์เจ้าหนี้ในพื้นจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายสำเริง ปานชาติ รองประธานกรรมการบริหาร นายประจักร์ บุญกาพิมพ์ ผู้แทนเกษตรกรใน คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ คณะผู้บริหาร พนักงาน/ลูกจ้าง อนุกรรมการฯ จังหวัดร้อยเอ็ด และเกษตรกรสมาชิกร่วมงานจำนวน 200 คน โดยมีนางบุญเกิด พานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ให้การต้อนรับ

การมอบเช็คชำระหนี้ครั้งนี้ เป็นงบประมาณ(งบกลาง) ที่กฟก.ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 1,500 ล้านบาท ภายใต้กลุ่มเป้าหมาย 2,557 ราย ในส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับการอนุมัติซื้อหนี้ จำนวน 78 ราย จำนวน 79,164,480.27 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้เกษตรกรได้กว่า 850 ไร่

สำหรับการจัดกิจกรรมมอบเช็คชำระหนี้ให้สหกรณ์ฯ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดครั้งนี้ มีสหกรณ์เจ้าหนี้ที่ยินยอมให้กฟก.ชำระหนี้แทน 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรปทุมรัตน์ จำกัด เกเกษตรกรได้รับการจัดการหนี้จำนวน 3 ราย จำนวน 3,257,758.80 บาท สหกรณ์การเกษตรปฎิรูปสุวรรณภูมิห้า จำกัด จำนวน 1 ราย จำนวน 273,744.40 บาท สหกรณ์การเกษตรโพนทอง จำกัด จำนวน 10 ราย จำนวน 13,600,899.71 บาท และสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด 63 ราย จำนวน 58,644,077.36 บาท รวม 77 ราย 86 บัญชี จำนวน 76 ล้านบาท

ภายหลังการมอบเช็คชำระหนี้เสร็จนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการกองทุนฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับเกษตรกรและสหกรณ์เจ้าหนี้ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรที่มีความเดือดร้อนต่อปัญหาหนี้สิน ภายใต้การรักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้เกษตรกรสมาชิก ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับการส่งมอบหลักประกันที่ดินในครั้งนี้กว่า 850 ไร่

“ขอบคุณสหกรณ์เจ้าหนี้ที่มองเห็นความเดือดร้อนในปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และนำมาซึ่งการยินยอมให้กฟก.เข้ามาชำระหนี้แทนเกษตรกร ซึ่งเป็นงบประมาณ งบกลางที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้อนุมัติมาให้ เมื่อชำระหนี้แล้ว กฟก.จะร่วมมือกับเจ้าหนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรต่อไป”

ข้อมูลการจัดการหนี้สาขาร้อยเอ็ด เกษตรกรสมาชิก 222,320 ราย ขึ้นทะเบียนหนี้ 17,336 ราย ได้รับชำระหนี้แทน 447 ราย จำนวน 215 ล้านบาท ปิดบัญชีแล้ว 81 ราย จำนวน 12.5 ล้านบาท รักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรได้ 2,953 ไร่

วันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 1/2566

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในฐานะเลขานุการเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีวาระที่สำคัญดังนี้

เรื่องเพื่อทราบ 4 เรื่อง

• รายงานการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566

• รายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

• รายงานผลการดำเนินงานกรณีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565

• บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เรื่องเสร็จที่ 1493/2565

เรื่องเพื่อพิจารณา 5 เรื่อง

• เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ดำเนินการจัดการหนี้ได้ตามอำนาจหน้าที่ จำนวน 9,773 ราย 32,354 บัญชี มูลหนี้รวม 8,292,036,480.98 บาท

• เห็นชอบรายชื่อและอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้แก่เกษตรกร เพิ่มเติม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 55 จำนวน 65 ราย จำนวนทรัพย์สิน 85 แปลง ยอดเงินรวม 86,194,185 บาท

• เห็นชอบแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 1,500,755,595 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ งบเพื่อการจัดการหนี้ของเกษตรกร

• เห็นชอบเปลี่ยนแปลงประเภทสถาบันเจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จากเดิมเป็นนิติบุคคลที่คณะกรรมการกำหนด เปลี่ยนเป็นสถาบันเกษตรกร

• เห็นชอบรายงานงบดุลแสดงฐานะการเงิน โดยมีคำรับรองของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และรายงานการปฏิบัติงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2564

• เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของกรรมการ เลขาธิการ ผู้ปฏิบัติงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. …


วันที่ 23 มี.ค. 66 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 3 สำนักงาน กฟก. นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการ สำนักงาน กฟก. เป็นประธานการประชุมการปิดตรวจรายงานการเงิน ปี 2565 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำโดย นางสาวบุษณัฐจรี เฟื่องพาณิชย์ นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษพร้อมคณะ การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าส่วน พนักงานลูกจ้างผู้รับผิดชอบการทำรายงานสรุปการเงินและบัญชีเพื่อสรุปงบดุลและงบแสดงฐานะทางการเงินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ในการรับรองการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีความเห็นประเด็นที่ตรวจพบ 5 ประเด็นสำคัญ เช่น การจัดทำทะเบียนคุมเงินสด เงินฝากธนาคาร การบริหารลูกหนี้เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร เป็นต้น พร้อมนี้ได้แนะนำให้ทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาเพื่อทราบและจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 16.00 น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายไชยยศ จิราเมธากร) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (นายชื่นชอบ คงอุดม) และเลขาธิการสำนักงาน กฟก. (นายสไกร พิมพ์บึง) ร่วมรับกระเช้าดอกไม้และรับมอบแทนนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตร 50,621 ราย โดยเกษตรกรรับหนี้ ครึ่งหนึ่งของเงินต้น (50 % ของเงินต้น 15,442 ล้านบาท) คือ 7,721 ล้านบาท โดยทำสัญญาไม่เกิน 15 ปี ส่วนเงินต้นอีกครึ่งหนึ่ง คือ 7,721 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยและค่าสูญเสียรายได้ของธนาคารทั้ง 4 แห่งจำนวน 7,760 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 15,481 ล้านบาท ให้ธนาคารขอชดเชยโดยเสนอคณะรัฐมนตรี อนุมัติเป็นปีๆไป ตามจำนวนเงินที่เกษตรชำระปิดบัญชีเงินต้นครึ่งแรกครบถ้วนแล้ว ก่อนเกษตรกรจากทั้ง 4 ภาคจากทั่วประเทศ ที่มาชุมนุมจะแยกย้ายเดินทางกลับภูมิลำเนา