วันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่สำนักงาน กพ. (หลังเก่า) นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. พร้อมด้วย นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ร่วมประชุมหารือการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธอส. ธ.ออมสิน และ ธพว. โดยมีตัวแทนจาก ธ.ก.ส. ผู้แทน สนง.เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และตัวแทนฝ่ายเกษตรกร นำโดย นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) และทีมงาน เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการหารือ
นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ได้รับหนังสือจากสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ขอให้ประสานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบและหารือการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ฯ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 และ วันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการแล้วโดย กฟก. และ ธ.ก.ส. ได้ทำสัญญาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2566 มีเกษตรกรได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ 50,621 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรมารายงานตัวแล้ว 33,970 ราย ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 24,934 ราย จัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 191 ราย และได้ชำระหนี้ปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. แล้ว 8 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอทำสัญญา และติดตามประสานให้เกษตรกรมารายงานตัว
จากกรณีที่มีเกษตรกรจำนวน 8 รายได้ชำระหนี้ปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. แล้วเสร็จ จึงเป็นเหตุให้ ธ.ก.ส. ขอทราบแนวทางการขอรับงบประมาณชดเชยของเงินต้นครึ่งหลังร้อยละ 50 และดอกเบี้ยพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยให้เจ้าหนี้ภายใต้กรอบวงเงินและแนวทางที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว จากนั้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 66 กฟก.พร้อมด้วยธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ได้เข้าพบผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ(สงป.) และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยผู้แทนสศค.ได้ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณอาจเข้าข่าย พรบ.วินัยการเงิน การคลัง ตามมาตรา 28 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบกรอบงบประมาณจากครม.ก่อนจึงจะเบิกจ่ายงบประมาณชดเชยได้เป็นเหตุให้ ธ.ก.ส.ชะลอการสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถของบประมาณชดเชยในส่วนที่รัฐบาลต้องรับภาระจ่ายให้เจ้าหนี้ได้
ในส่วนของ กฟก. มีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ได้มีหนังสือยืนยันว่าโครงการดังกล่าว ครม.ได้ ประกอบกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ได้อนุมัติในหลักการและให้ดำเนินการทำสัญญาได้แล้ว ส่วนงบประมาณที่ขอชดเชยให้เจ้าหนี้นั้น กองทุนฯ จะเริ่มขอใช้งบประมาณในปี 68 เป็นต้นไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรอบงบประมาณปี 66-67 ตามที่ สศค.ให้ความเห็น โดยกองทุนฯ จะเสนอเรื่องเข้า ครม. เพื่อขอเงินชดเชยให้เจ้าหนี้เป็นปี ๆ ไปตามจำนวนที่เกษตรกรได้ปิดบัญชี และขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนมากกว่า 2.5 หมื่นรายกำลังรอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ฯ ซึ่งทุกอย่างได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงความชัดเจนจากทางสถาบันเจ้าหนี้เท่านั้น
ผลจากการหารือร่วมกัน ได้ข้อสรุปว่าเกษตรกรสามารถทำสัญญาได้ ส่วนเงินชดเชยให้ กฟก.เสนอ ครม.ขอใช้งบประมาณในปี 68 ส่วนกรณีเกษตรกร 8 รายที่ปิดบัญชีไปแล้วนั้นเป็นภาระที่ ธ.ก.ส. ต้องรับภาระไปก่อนแล้วค่อยเสนอขอชดเชยในปี 68 ต่อไป