วันที่ 6 พ.ย. 65 ที่วิทยาลัยเทคนิคปากช่อง จ.นครราชสีมา รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาอาชีพเกษตรกร เช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกร มอบโฉนดที่ดินคืนให้เกษตรกรที่ชำระหนี้คืนครบตามสัญญา และมอบใบประกาศแสดงความยินดีกับเกษตรกรสมาชิกกฟก. จ. นครราชสีมา ที่ได้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ ลดหนี่เงินต้นเหลือครึ่งเดียว ตามมติครม. 22 มีค. 65 โดยมี นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. พร้อมด้วย นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร นายประยงค์ อัฒจักร ผู้อำนวยการสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นางโสมสุดา โพธิ์อินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายวัชรางกูร แสนเสริม หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า “ในวันนี้ รองนายกจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร จำนวน 5 องค์กร มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 275 คน เป็นเงิน 1,560,000 บาท มอบเช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกร จำนวน 33 คน 5 สหกรณ์ เป็นเงิน 17,594,552.88 บาท มอบโฉนดที่ดินคืนเกษตรกรที่ได้ชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำนวน 10 คน 16 แปลง เนื้อที่ 140 ไร่ 3 งาน 72.4 ตารางวา และมอบใบประกาศการได้รับสิทธิปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม. จำนวน 62 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเกษตรกรสมาชิกกฟก.นครราชสีมา

สำหรับจังหวัดนครราชสีมา กฟก. ได้มอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูอาชีพไปแล้ว 130 องค์กร เป็นเงิน 72,085,317 บาท มอบเช็คชำระหนี้แทนเกษตรกรให้กับเจ้าหนี้สหกรณ์ 48 สหกรณ์ เป็นเงิน 168,418,126.43 บาท มอบโฉนดที่ดินและใบประกาศเกียรติคุณให้เกษตรกรที่ชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา จำนวน 975 คน และมอบใบทะเบียนองค์กรเกษตรกร จำนวน 62 องค์กร

ผลงานที่ผ่านมาของกฟก.ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีการผลักดันให้ กฟก. ได้รับงบประมาณและกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ได้ชำระหนี้แทนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 2,095 ราย 2,098 บัญชี เป็นเงิน 1,772.33 ล้านบาท รักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรได้ 1,594 แปลง เนื้อที่รวม 8,625 ไร่”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาตนในฐานะประธานกองทุนฯ ได้ผลักดันทางนโยบายให้กฟก. ได้รับงบประมาณงบกลางจำนวน 2,000 ลบ. และในปี 2566 ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีอีก 500 ลบ. ซึ่งคาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งคงต้องเสนอรัฐบาลของบกลางปี 66 อีกครั้ง