วันที่ 10 ส.ค. 66 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานการหารือ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ได้แก่ เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) รองเลขาธิการ ผู้บริหารสำนักจัดการหนี้ฯ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร กรณีลูกหนี้ 4 ธนาคารของรัฐ ซึ่งที่ประชุมได้สอบถามความชัดเจนของมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 และ วันที่ 14 มีนาคม 2566 จากผู้แทน สลค. หลังจากนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการต่อไปตามมติ ครม. ดังกล่าว

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยมี ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนสำนักงาน สคล. ผู้บริหารสำนักงาน กฟก. ผู้แทนจาก กษ. และผู้แทน ธ.ก.ส. มีประเด็นในการหารือ 4 ประเด็น ได้แก่ การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ขัดกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่ การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การรับเงินชำระหนี้จากเกษตรกรในส่วนของร้อยละ 50 และการตั้ง งบประมาณชดเชยให้กับธนาคารเจ้าหนี้ทั้ง 4 แห่ง จะดำเนินการต่อไปอย่างไร กรณีที่เกษตรกรทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และได้ทำการปิดบัญชีชำระหนี้ จำนวน 8 ราย ให้กับ ธ.ก.ส. สำนักงาน กฟก. สามารถตั้งงบประมาณขอเงินชดเชยได้หรือไม่ และ การชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี ผลจากการหารือมีความชัดเจนว่าเกษตรกรสามารถทำสัญญาได้ ส่วนเงินชดเชยให้ กฟก. เสนอ ครม.ขอใช้งบประมาณในปี 2568 ตามขั้นตอน

ข้อสรุปในเบื้องต้นทางธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง โดย ธ.ออมสิน พร้อมทำสัญญาในเร็ววันนี้ ส่วน ธ.อาคารสงเคราะห์และธ. พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ อยู่ระหว่างเสนอบอร์ดพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ ส่วน ธกส. จะนำเรื่องการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินงานภายในวันที่ 24 ส.ค. 66 นี้ ซึ่งในส่วนของเกษตรกรที่มารอให้คำตอบจะยังคงปักหลักรอคำตอบที่ชัดเจนตามกำหนดการที่ทางธนาคารได้แจ้งในที่ประชุมต่อไป