วันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น. ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์แถลงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในรอบ 2 ปี ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ โดยมีนายไชยยศ จิรเมธากร   รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คณะกรรมการ กฟก. คณะกรรมการบริหาร และ คณะกรรมการจัดการหนี้ นายสไกร    พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กฟก. ร่วม รับฟังการแถลงข่าวด้วย

นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ กฟก. ได้ดำเนินงานไปแล้วหลายประการ ดังนี้ มีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 5,670,659 ราย คิดเป็นองค์กร 56,284 องค์กร ขึ้นทะเบียนเพื่อขอให้ กฟก.ช่วยเหลือด้านหนี้สิน จำนวน 535,871 ราย 769,220 บัญชี วงเงิน 107,119,587,129.52 บาท สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตรกรได้ทั้งสิ้น 1,857 ราย เป็นหนี้รวม 1,514 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดแยกเป็น ซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแล้ว ให้เกษตรกรมาเป็นหนี้ กฟก. แทน โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยและไม่มีการยึดที่ดินจนกว่าเกษตรกรจะผ่อนชำระหนี้ครบ จำนวน 1,695 ราย วงเงิน 1,347 ล้านบาท และ กฟก. เข้าไปซื้อทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือกำลังขายทอดตลาด จำนวน 162 ราย วงเงิน 167 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้มีความคืบหน้าไปมากภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ

และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาชะลอไม่ให้เกษตรกรถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี ขายทอดตลาดอีกจำนวน 11,472 ราย วัตถุประสงค์อีกด้านของ กฟก. นั้น มีนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็งภายหลังที่ได้รับการจัดการหนี้ มีการอนุมัติโครงการเพื่อการฟื้นฟูอาชีพไปแล้ว จำนวน 551 โครงการ วงเงิน 313,181,445 บาท สมาชิกร่วมโครงการ 9,107 ราย

สำหรับการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมมีมติสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่

  • เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ซึ่งเป็นกลไกหลักของคณะกรรมการ กฟก. ในการแก้ไขปัญหาหนี้ ไปดำเนินการจัดการหนี้ให้เกษตรกรเพิ่มเติมอีก 5,277 ราย วงเงิน 3,533 ล้านบาท
  • มีมติให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ซื้อทรัพย์ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA เพิ่มเติมอีก 35 ราย วงเงิน 52.7 ล้านบาท
  • ให้ปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการ กฟก.เพื่อให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ไปซื้อทรัพย์ที่หลุดมือจากเกษตรกรไปหลายทอด แต่เกษตรกรยังหวังที่จะให้ทรัพย์กลับคืนมา โดยให้มาเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลของ กฟก. และเกษตรกรมาผ่อนชำระคืนจนกว่าจะครบตามสัญญา เป้าหมายหลักในเรื่องนี้คือต้องการรักษาหลักทรัพย์หรือที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร
  • เห็นชอบการจัดสรรเงินงบกลางที่ ก.เกษตรฯ กับ กฟก. เสนอขอต่อ ครม. โดย ครม. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 65 และเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 65 สำนักงบประมาณ ได้โอนเงิน ให้ กฟก. แล้ว ซึ่งสามารถนำงบประมาณไปดำเนินการตามกรอบและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แยกเป็น 1) เพื่อการบริหารสำนักงาน เป็นเงิน 230,382,500 บาท 2) เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นเงิน1,500 ล้านบาท เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,425 ราย และ 3) เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงิน 269,617,500 บาท เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 42,034 ราย 776 องค์กร