วันที่ 11 ธ.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานผลการดําเนินงานและขอปรับปรุงแนวทางการดําเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 65 และ 14 มี.ค. 66 เห็นชอบให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ลูกหนี้ 4 แบงก์รัฐ ประกอบด้วย ธ.ก.ส. ธอส. ธ.ออมสิน และ ธ.เอสเอ็มอี. ได้สิทธิ์ปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50,621 ราย ภายใต้กรอบงบประมาณเงินชดเชยไม่เกิน 15,481 ลบ. โดยมีผลการดําเนินโครงการฯ ดังนี้ ยืนยันเข้าร่วมโครงการแล้ว 29,193 ราย ไม่ใช้สิทธิ์ 21,428 ราย เนื่องจากไม่ประสงค์ร่วมโครงการ 9,767 ราย ย้ายภูมิลําเนาไม่สามารถติดต่อได้ 2,827 ราย เพิกเฉยไม่มาแสดงตน 8,834 ราย ซึ่งขณะนี้เกษตรกรได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 14,638 ราย

ประกอบกับมีปัญหาการดำเนินงานจึงเสนอคณะรัฐมนตีในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค. 67 เพื่อปรับปรุงถ้อยคําตามที่ได้เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติในการดําเนินโครงการฯ ได้ชัดเจน และเพื่อให้เกษตรกรสามารถทําสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ภายใต้กรอบเวลา 15 ปี จํานวน 2 เรื่อง ดังนี้

ระยะเวลาการบังคับคดีคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี ในการดําเนินโครงการเกษตรกรที่มีระยะเวลาการ บังคับคดีเหลือน้อยไม่สามารถทําสัญญากับเจ้าหนี้ได้ หากทําได้มีระเวลาผ่อนชําระเพียง 1 ปี จึงไม่สามารถชําระหนี้ ได้ตามความสามารถที่แท้จริง กฟก.ร่วมกับธนาคารรัฐ 4 แห่ง จึงมีความเห็นร่วมกันในการปรับปรุงถ้อยคําให้ สามารถนําไปสู่ปฏิบัติงานได้จริง รวมถึงกรณีอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในคราวที่เสนอ ครม. ในคราวที่ผ่านมา ครอบคลุม ถึงกรณีฟ้องร้องดําเนินคดี พิพากษา บังคับคดีขายทอดตลาด ทั้งที่จะครบระยะเวลาการบังคับคดี หรือพ้นระยะเวลาการบังคับคดีไปแล้ว ให้เกษตรกรได้สิทธิการทําสัญญาตามกรณีไป ทั้งนี้ หากเกษตรกรได้ทําสัญญา 15 ปี จะสามารถฟื้นฟูตนเองได้และสามารถชําระหนี้ได้ด้วยตนเองตามกรอบเวลาของสัญญา

กรณี กฟก.ชําระหนี้แทนหากเกษตรกรไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กรณีมีเหตุผลความจําเป็น ซึ่งเดิมรายละเอียดและวิธีการดําเนินงานยังไม่ครอบคลุมและยังไม่สามารถแก้ปัญหา ให้กับเกษตรกรได้ จึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมนําไปสู่การแก้ปัญหาให้สําเร็จได้ตามเจตนารมณ์ของมติ ครม. และ พรบ.กฟก. เป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมแนวทางการชําระหนี้แทน โดยให้ กฟก.ร่วมกับเจ้าหนี้ธนาคารรัฐ กําหนด เกณฑ์การชําระหนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรกําหนด และให้ กฟก.จัดทําแผนการ จ่ายเงินรวมถึงเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ในคราวเดียวกันตามแผนงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล

โดย ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้เกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม จํานวน 16,794 ราย และที่แจ้งเพิ่มเติมภายหลังที่มีคุณสมบัติขึ้นทะเบียนหนี้กับ กฟก.ครบถ้วนแล้วและเป็นหนี้ NPL ตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกําหนด ให้ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการทดแทนเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ไม่ใช้สิทธิ์และไม่ประสงค์ ร่วมโครงการ (21,428 ราย) โดยไม่เกินจากกรอบงบประมาณชดเชย จํานวน 15,481,657,199.77 บาท ที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ให้ความเห็นชอบแล้ว มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันในการกําหนดแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และเร่งรัดดําเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาดําเนินโครงการที่คณะรัฐมนตรี 22 มี.ค. 65 ให้ความเห็นชอบ (ภายใน 3 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 22 มี.ค. 68 )