21-4-pr4791

rn

21-4-pr4792    21-4-pr4793

rn

21-4-pr4794    21-4-pr4795

rn

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นำโดย นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะทำงานแก้ไขหนี้สินเกษตรกรสมาชิกที่เป็นลูกหนี้สถาบันเกษตรกร และนายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เข้าร่วมการเจรจาสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนกรณีของสหกรณ์การเกษตร ณ ห้องประชุมศูนย์ OTOP Center องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย พ.ต.อ. ประทีป กิจจะวัฒนะ ที่ปรึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรสมาชิกเข้าร่วมรับฟังกว่า 400 คน

rn

นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า กฟก. ได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และหาแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรสมาชิกบางรายที่เป็นหนี้เร่งด่วน ถูกสถาบันเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับคดี ขายทอดตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจมีทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ นอกจากนี้ยังได้ประสานกับสถาบันเจ้าหนี้เพื่อเจรจาหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรสมาชิก ในครั้งนี้เรามาหาข้อสรุปร่วมกับสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ โดยทั้ง 2 จังหวัดมีหนี้เร่งด่วนของสหกรณ์ และแจ้งรายชื่อเข้ามาให้ กฟก.ชำระหนี้แทนในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 160 ราย จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 130 ราย ซึ่ง กฟก. และคณะทำงานมีกำหนดการลงพื้นที่ภาคกลางที่จังหวัดชัยนาทในวันที่ 25 เมษายน 2559 จังหวัดอ่างทอง วันที่ 27 เมษายน 2559 ภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 จังหวัดเชียงราย วันที่ 12 เมษายน 2559 และภาคใต้ที่จังหวัดพัทลุง วันที่ 18พฤษภาคม 2559

rn

กฟก. และทีมงานจะลงพื้นที่ทำความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานของ กฟก. รวมทั้งหลักเกณฑ์การชำระหนี้แทนให้กับเกษตรกร ซึ่งหลักเกณฑ์การชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีสหกรณ์ กฟก. จะชำระหนี้แทนได้ต้องเป็นหนี้ผิดนัดชำระ (NPL) ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 10 ปี กรณีถูกฟ้องร้องดำเนินคดีสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้ครบ 3 ปี เงินต้นไม่เกิน 1 ล้านบาท โดย กฟก.ชำระหนี้แทนเกษตรกร 50% เงินต้นที่เหลือ 50% และดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5% รัฐบาลจ่าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในพื้นที่ให้ตรงกัน ลดความขัดแย้งและความคลาดเคลื่อนของข้อมูลและสามารถถ่ายทอดข้อมูลไปยังเกษตรกรสมาชิกให้เข้าใจตรงกันด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับฟังปัญหาและอุปสรรคในกรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้รับการชำระหนี้แทน เช่น กรณีบุคคลค้ำประกัน หนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร การเรียกเก็บส่วนต่างจากดอกเบี้ยการชำระหนี้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะนำเสนอคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป