สมาชิก กฟก. พร้อมใจยื่นเสนอแผนและโครงการ ขอรับงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิต

นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ตามที่องค์กรเกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ในมาตรา 31 องค์กรเกษตรกรมีสิทธิขอรับการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยให้ทำแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยื่นต่อสำนักงานหรือสำนักงานสาขาจังหวัดที่เป็นที่ตั้งขององค์กรเกษตรกร และมาตรา 37/9 เกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ โดยในปีงบประมาณ 2563 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 มีองค์กรเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ยื่นเสนอแผนหรือโครงการแล้ว จำนวน 1,538 องค์กร งบประมาณรวม 8,033,522,789 บาท

โดยเฉพาะในวันที่ 24-25 ธันวาคม 2563 ได้มีองค์กรเกษตรกรยื่นเสนอแผนหรือโครงการตามระเบียบใหม่    ที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้มีมติเห็นชอบระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วย การพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การติดตามและประเมินผลการดำเนินการ การเบิกจ่ายเงิน และการใช้คืนเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2563 ไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 จำนวน 168 องค์กร เป็นเงินงบประมาณ 6,292,308,563 บาท โดยแยกเป็น ภาคเหนือ 62 องค์กร งบประมาณ 2,287,237,222 บาท ภาคกลาง 36 องค์กร งบประมาณ 1,135,890,741 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 62 องค์กร งบประมาณ 2,860,622,329 บาท และภาคใต้ 8 องค์กร งบประมาณ 8,558,271 บาท

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะดำเนินการพิจารณาแผนหรือโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เบื้องต้นมีงบประมาณเพื่อใช้ในการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรอยู่ 340 ล้านบาท จะอนุมัติให้หมดภายในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2564 นี้ อย่างไรก็ตามสำนักงานได้จัดทำแผนของบกลางเพิ่มเติมสำหรับการฟื้นฟูอาชีพ จำนวน 3,290 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้นองค์กรเกษตรกรสามารถยื่นเสนอแผนหรือโครงการได้ ณ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดอันเป็นที่ตั้งขององค์กรได้ หากเกษตรกรต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนองค์กร การยื่นเสนอแผนหรือโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดทั่วประเทศ ในเวลาราชการ  08.30 น. – 16.30 น. นายสไกรกล่าว

กฟก.ยโสธร โอนหลักประกันคืนให้กับเกษตรกรสมาชิกที่ชำระหนี้ครบสัญญา

วันที่ 22-23 ธันวาคม 2563 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดยโสธร โดยนางนุชฎา จำเริญสาร หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดยโสธร ได้ทำการโอนหลักประกันคืนให้กับเกษตรกรสมาชิกที่ขอชำระหนี้ปิดบัญชี เพื่อไถ่ถอนหลักประกันคืน จำนวน 3 ราย คือ 1.นางจำนง สายเสมา (ผู้จัดการมรดกนายบุญมี สายเสมา) 2.นายปฐมภัทร คำดี (ผู้จัดการมรดกนายสวัสดิ์ คำดี) 3.นายนิคม โสมาบุตร หลักประกันจำนวน 3 แปลง เนื้อที่รวม 59 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขา เลิงนกทา และสำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร

นับเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดยโสธร ที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและดูแล ทรัพย์สินของเกษตรกรสมาชิกให้มีที่ดินทำกินส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่น หลานต่อไป

ประกาศสำนักงาน เรื่อง รับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นลูกจ้างของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปฏิบัติงานสำนักกฎหมาย

กฟก.ลพบุรี ประชุมอนุฯ จังหวัดนอกสถานที่ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตร

กฟก.ลพบุรี ประชุมอนุฯ จังหวัดนอกสถานที่ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตร        

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563  สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรสาขาจังหวัดลพบุรี โดยนางนัทธมน จันทร์ฤกษ์ หัวหน้าสำนักงาน พร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการจังหวัด ครั้งที่ 6/2563 นอกสถานที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองมะค่า อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายจิรศักดิ์ ติณสุวรรณ นายอำเภอโคกเจริญ และนายกิตติพล ตะพานแก้ว ผู้แทนเกษตรกรภาคกลางจังหวัดลพบุรี เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย  

สำหรับสถานที่ประชุมในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์ด้านสถานที่ในการจัดประชุมจากนายพงษ์ณริณ ใจหาญ นายก อบต.หนองมะค่า และเป็นอนุกรรมการจังหวัดลพบุรี การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และแปลงทำเกษตรของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้กับกลุ่มองค์กรในพื้นที่ ทั้งนี้ตำบลหนองมะค่า อำเภอโคกเจริญ มีพื้นที่เขตติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพเหมาะสมแก่การทำเกษตรด้านพืชและสัตว์  มีกลุ่มเสนอแผนโครงการ จำนวน 2 องค์กร โดยมีการปลูกอโวคาโด พุทราสามรส และมะขามเทศ