สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดยะลา ได้ดำเนินการโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันคืนให้เกษตรกร

วันที่ 21 มกราคม 2563  นางสาวธนิษฐา  หนูสุข  รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดยะลา ได้ดำเนินการโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันคืนให้เกษตรกร นายขจร บุรี สมาชิกเกษตรกรกลุ่มพัฒนาอาชีพตาชี  ได้รับการจัดการหนี้เมื่อปี 2557  และได้ชำระเงินคืนกองทุนฟื้นฟูฯ เรียบร้อยแล้ว  โดยมีนายทรงวุฒิ ดำรงกูล ประธานอนุกรรมการฯ จังหวัดได้ร่วมแสดงความยินดี ณ สำนักงานที่ดินอำเภอยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา

เลขาธิการ กฟก. ร่วมงานวันเกษตรภาคอีสาน

วันที่ 24 มกราคม 2563 นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพร้อมด้วยนายประยงค์ อัฒจักร ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เข้าร่วมงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2563 ” ต่อยอดปณิธานรากฐานเกษตรอัจฉริยะ “ณ อาคารนิทรรศการจตุรมุขอุทยานเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมบรรยากาศซุ้มแสดงผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรต่าง ๆ ภายในงาน

ประชุม คกก.หนี้

วันที่ 21 มกราคม 2563  สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประชุมคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ครั้งที่ 4/2563 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมี นายจารึก บุญพิมพ์ ประธานกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรเป็นประธาน โดยที่ประชุมมีการพิจารณาวาระ ดังนี้ พิจารณาแนวทางการขอเงินทดรองจ่ายเงินชดเชย กรณีการชำระหนี้แทนลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนิติบุคคล โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แนวทางดังกล่าวก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป แนวทางการจัดการหนี้ กรณีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท ให้กับเกษตรกร ที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานในการชำระหนี้แทน จากเดิมรายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ขยายเป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท โดยให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเห็นชอบต่อไป สำหรับหนี้ที่เกิน 5 ล้านบาท คณะกรรมการจัดการหนี้จะมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามกระบวนการ และขั้นตอนการอนุมัติรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรเพื่อจัดการหนี้ตามมาตรา 37/9 (ข้อมูลทะเบียนหนี้ ระหว่างวันที่ 21 กันยายน 2559 – 30 กันยายน 2562) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับรองรายชื่อทะเบียนหนี้เกษตรกร จำนวน 14,066 ราย ซี่งได้ผ่านการอนุมัติและเห็นชอบรายชื่อโดยคณะอนุกรรมการจังหวัดเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเสนอกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯให้ความเห็นชอบรายชื่อให้จัดการหนี้ได้

ประชุมคณะทำงานพิจารณา (ร่าง) ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหนี้ของเกษตรกร

วันที่ 17 มกราคม 2563 สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร จัดประชุมคณะทำงานพิจารณา (ร่าง) ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหนี้ของเกษตรกร ครั้งที่ 3/2563 โดยมีนายนคร ศรีวิพัฒน์ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีวาระพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เรื่องหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ และการจำแนกแยกประเภทหนี้ของเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้สำนักงานสรุปปัญหาคุณสมบัติการขึ้นทะเบียนหนี้กรณีวัตถุประสงค์การกู้ เพื่อเตรียมเข้าหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสหกรณ์

ประชุมคณะทำงานตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติเกษตรกร

วันที่ 17 มกราคม 2563 สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร จัดประชุมคณะทำงานตรวจสอบรายชื่อ และคุณสมบัติเกษตรกรก่อนการชำระหนี้แทน ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายวิเชียร บุตรศรี เป็นประธานคณะทำงาน ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ มีวาระพิจารณากลั่นกรองรายชื่อเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้เร่งด่วน กรณีสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์) ธนาคารพาณิชย์ นิติบุคคล ตามแผนงานของคณะทำงาน

เลขาธิการ บันทึกเทปรายการ NBT มีคำตอบ

วันที่ 21 มกราคม 2563 นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร บันทึกเทปโทรทัศน์การให้สัมภาษณ์ในรายการ NBT มีคำตอบ ทางช่อง NBT ในประเด็นแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรายการจะออกอากาศวันที่ 22 มกราคม 2563 ติดตามรับชมทางช่อง NBT ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 11.00 น

มอบกระเช้าปีใหม่ 2563

วันที่ 16 มกราคม 2563 ผู้แทนจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) เข้าพบนายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อมอบกระเช้าของขวัญเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2563 ณ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

สภาผู้แทนฯ เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. กฟก.

วานนี้ (15 มกราคม 2563 ) เวลาประมาณ 16.45 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1  เรื่องด่วน เรื่องที่ 1 ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสนใน กรุงเทพมหานคร  มีการนำเสนอวาระเพื่อพิจารณา นำเสนอโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูฯ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. 

ในประเด็นขอให้แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (พ.ร.บ.) ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 16 การดำรงตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร เพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี , มาตรา 23 ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาจังหวัด ซึ่งตามที่กำหนดไว้เดิมใน พ.ร.บ.ต้องมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงปรับเป็นให้สามารถจัดหาที่ตั้งของสำนักงานได้ตามความจำเป็นมากขึ้น , และมาตรา 37/9 ปรับปรุงแก้ไขวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีหลักทรัพย์ค้ำประกันและใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถซื้อหนี้บุคคลค้ำประกันไปบริหารได้ด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลักการผ่านร่างดังกล่าว ซึ่งจากการลงคะแนนเพื่อขอมติ มีผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 406 คน เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว 394 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง      งดออกเสียง 12 เสียง ซึ่งภายหลังจากมีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว ให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้

Description: C:\Users\raphattorn.ch\Desktop\New folder (3)\IMG_0022.JPG

ในการนี้ นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วย นายมนัส วงษ์จันทร์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ได้เข้าร่วมในเวทีอภิปรายสภาเพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการนำเสนอด้วย

กรมการปกครองแจงประเด็นสถานะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นแนวทางสรรหาอนุกรรมการฯ จังหวัด ของ กฟก.

นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับประเด็นสถานะความเป็นข้าราชการของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบการสรรหาอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัด ว่า ตามที่ กฟก. ได้หารือกรมการปกครองเพื่อให้ทราบความชัดเจนถึงสถานะความเป็นข้าราชการของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางกรมการปกครองได้มีความเห็นว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานในสังกัดกรมการปกครองและอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของนายอำเภอ มิได้มีสถานะเป็นข้าราชการ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 107/2550 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550 มาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 และมาตรา 4 (14) แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยได้รับเงินเดือน แต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนตามมาตรา 9 วรรคสาม และมาตรา 29 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457

กรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้รับการสรรหาเป็นผู้แทนภาคราชการ สามารถแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดได้หรือไม่นั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการกระจายอำนาจการบริหาร พ.ศ. 2556 ซึ่งอยู่ในอำนาจของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้วินิจฉัย