วันที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 6 ห้อง 6A สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 8/2567 โดยมีนายสุรชัย เบ้าจรรยา เป็นประธานการประชุม และมีนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน เป็นเลขานุการคณะ โดยในช่วงเช้าคณะกรรมการบริหารได้มอบหมายให้คณะทำงานวางแผนประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ นำเสนอโครงการประชุมสมัชชาใหญ่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในวาระครบรอบ 25 ปี คิดใหม่ ทำใหม่ คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อเกษตรกรทุกคน ที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดให้สอดคล้องกับงบประมาณ โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะต้องเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลด้วย และให้นำเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการในคราวประชุมครั้งต่อไป

ในช่วงบ่าย เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสุรชัย เบ้าจรรยา ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหาร ผู้แทนจากคณะกรรมการจัดการหนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ผู้บริหารสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ประชุมมอบนโยบายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสาขาจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสุรชัย เบ้าจรรยา ได้มอบนโยบายตกับผอ.สน.กิจการสาขาจังหวัด หนู.สนง. และพนักงาน-ลูกจ้างสาขาจังหวัดทั่วประเทศว่า ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ได้เดือนเศษ ได้รับข้อมูลเรื่องมีกลุ่มบุคคลแอบอ้างกองทุนฟื้นฟูฯ ในการเรียกรับผลประโยชน์ทั้งเรื่องการเขียนแผนโครงการ และเรื่องการจัดการหนี้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการจัดการหนี้ มีความกังวลใจ ห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรทุกภาคทุกจังหวัด จึงขอให้ทุกสาขาจังหวัดกระจาย ขยายข่าวให้เกษตรกรทุกพื้นที่ได้รับทราบว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินจากเกษตรกร ท่านใดที่มีปัญหาเดือดร้อนให้ติดต่อกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดโดยตรง ฝากทุกสาขาให้เร่งอธิบาย ทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางให้เข้าถึงเกษตรกร ในส่วนของฝ่ายบริหารได้เตรียมพร้อมในการของบประมาณจากรัฐบาลสำหรับการบริหารงานทุกด้าน เกษตรกรจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้าความจน พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีสวัสดิการในการทำงาน เรื่องใดที่จะช่วยให้การทำงานราบรื่น ฝ่ายบริหารยินดีให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน จึงขอให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกท่านที่ให้ความทุ่มเทเสียสละทำงานเพื่อเกษตรกร

ในเรื่องผลงานของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้นมีอยู่หลายด้าน สิ่งสำคัญคือต้องดึงเอาจุดเด่นออกมานำเสนอให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกที่มีความโดดเด่นนั้นสามารถผลักดันให้เป็นสินค้า Soft Power ได้ การแก้ไขปัญหาหนี้มีความคืบหน้าไปมาก มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สิน มีการกำหนดแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาล ปัญหาที่จำเป็นต้องสะสางจะเร่งดำเนินงานให้เร็ว และต้องทำงานเชิงรุก เน้นการเข้าถึง คิดใหม่ ทำใหม่ คิดใหญ่ ทำเป็น ตามที่ได้มอบนโยบายไว้กับคณะผู้บริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ “เกษตรกรต้องอยู่ดีกินดี ไม่มีปัญหาหนี้สิน”