• Q : สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ให้ความช่วยเหลือเรื่องใด
  • A : วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรกำหนด เกษตรกรซึ่งเป็นหนี้ในระบบ และประสงค์ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรต่อสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรประกาศกำหนด

  • Q : อยากสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต้องทำอย่างไร
  • A : กลุ่มหรือคณะของเกษตรกรในจังหวัดเดียวกันไม่น้อยกว่าห้าสิบคน โดยมีวัตถุประสงค์ ในการประกอบเกษตรกรร่วมกัน โดยประธานหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากประธานองค์กรเกษตรกรนั้นๆ เป็นผู้ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร และทะเบียนสมาชิก พร้อมเอกสารแบบคำขอได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดที่องค์กรตั้งอยู่ สามารถติดต่อสอบถามที่ตั้งของสำนักงานสาขาจังหวัดใกล้บ้านได้ที่เบอร์ 02-1580342 หรือที่อยู่ติดต่อหน้าเว็บไซต์ สำนักงานสาขาจังหวัด 77 จังหวัด และสำนักกิจการสาขาภูมิภาค

  • Q : เอกสารที่ใช้สมัครสมาชิกมีอะไรบ้าง
  • A : เกษตรกรที่ประสงค์ขึ้นทะเบียนหนี้ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนที่สำนักงานสาขาจังหวัดในวันและเวลาทำการ โดยใช้เอกสารประกอบคำขอ ดังนี้
  1. คำขอขึ้นทะเบียนหนี้
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  3. หลักฐานแห่งหนี้

หากมิใช่กรณีขอตั้งองค์กรใหม่ แต่เป็นกรณีขอเพิ่มสมาชิกใหม่ในองค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสมาชิก (กรอกแบบฟอร์มตามที่สำนักงานกำหนด) พร้อมแนบหลักฐาน ได้แก่สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ยื่นเอกสารขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มในสังกัดกลุ่มองค์กร ณ ภูมิลำเนาของตน ต่อประธานองค์กรเกษตรกร หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากประธานองค์กรเกษตรกร จากนั้นยื่นแบบคำขอ (กรรมการองค์กรลงนามรับรองรายชื่อ) พร้อมเอกสารหลักฐาน ยื่นต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสาขาจังหวัดที่องค์กรตั้งอยู่

  • Q : จะทราบได้อย่างไรว่าผ่านการอนุมัติเป็นสมาชิก กฟก.
  • A : เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง และ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วนายทะเบียนจะอนุมัติการขึ้นทะเบียนหนี้ โดยเสนอคณะอนุกรรมการจังหวัดเห็นชอบ สำนักงานสาขาจังหวัดจะทำการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลทะเบียนหนี้ออนไลน์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้

  • Q : การชำระหนี้คืน กฟก. ทำอย่างไร
  • A : สมาชิกเกษตรกรสามารถประสานสาขาจังหวัดที่เกษตรกรสังกัดอยู่ เพื่อขอใบแจ้งหนี้เพื่อชำระหนี้คืน กฟก.

กรณีชำระหนี้คืน จะมี 2 กรณี

  1. แจ้งชำระปกติ (ใบแจ้งยอดชำระ) เพื่อชำระยอดหนี้ให้เป็นปัจจุบัน
  2. แจ้งชำระเพื่อปิดบัญชี (ใบแจ้งยอดชำระ) ปิดสัญญาเพื่อชำระยอดหนี้ ปิดสัญญาเพื่อขอปิดบัญชี และ ไถ่ถอนหลักประกัน

  • Q : ระยะเวลาในการคืนหลักทรัพย์ ( โฉนด ) ของ กฟก. ให้เกษตรกรสมาชิกที่ชำระหนี้คืน กฟก. ครบถ้วน ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่
  • A : ไม่เกิน 2 เดือน ตั้งแต่ส่วนบริหารสินทรัพย์ได้รับเรื่อง จาก สำนักงานสาขาจังหวัดในกรณีที่เอกสารครบถ้วน ชำระครบถ้วน ถ้าหากเอกสารไม่ครบถ้วน เช่น ขาดหนังสือผู้จัดการมรดก ในกรณีเจ้าของหลักประกันเดิมเสียชีวิต ชำระยังไม่ครบถ้วน ระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับเกษตรกร จะนำไปดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด เมื่อส่วนบริหารสินทรัพย์ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาขาจังหวัด เกษตรกรสามารถดำเนินการปิดบัญชีได้ทันที

  • Q : การสมัครเป็นสมาชิก กฟก. มีค่าใช้จ่ายหรือไม่
  • A : สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นหน่วยงานของรัฐ เกษตรกรสามารถเข้ามาใช้บริการ หรือ ปรึกษาปัญหาหนี้สินได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

  • Q : กรณีการชำระหนี้แทนเกษตรกรในองค์กรที่ไม่มีแผนฟื้นฟูและหนี้ NPA ที่ไม่สังกัดกลุ่มองค์กร จะสามารถทำแผนฟื้นฟู ( ผค 1/4 ) ได้หรือไม่
  • A : ประเด็นที่ 1 การชำระหนี้แทนเกษตรกรในองค์กรที่ไม่มีแผนฟื้นฟูทำ ผค 1/4 ได้หรือไม่นั้น
    • สามารถทำผค 1/4 ได้ เพราะเป็นการทำแบบเสร็จความประสงค์เข้าร่วมการฟื้นฟูของเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากองค์กร หากไม่ยินยอมเกษตรกรสามารถย้ายองค์กรที่ยินยอมทำแทนได้ต่อไป
  • ประเด็นที่ 2 การซื้อ NPA เกษตรกรไม่สังกัดทำ ผค 1/4 ได้หรือไม่นั้น
    • หากไม่เป็นสมาชิกไม่สามรถทำได้ ฉะนั้นหากไม่พบข้อมูลสมาชิก เกษตรกรจะต้องตรวจสอบยืนยันข้อมูลการขึ้นทะเบียนสมาชิกให้ถูกต้อง หรือ ขึ้นทะเบียนองค์กรก่อนที่จะทำ ผค 1/4

  • Q : การขอชำระเงินคืน กฟก. กรณีที่ต้องการปิดหนี้เพื่อขอไถ่ถอนโฉนด เนื่องจากมีเงินก้อนและต้องการชำระคืนทั้งหมด สามารถทำได้หรือไม่ หากได้ต้องทำอย่างไร
  • A : การขอชำระเงินคืน กฟก. กรณีที่ต้องการปิดหนี้เพื่อขอไถ่โทษโฉนด เนื่องจากมีเงินก้อนต้องการชำระคืนทั้งหมด สามารถทำได้ โดยให้เกษตรกรไปติดต่อสำนักงานสาขาจังหวัดที่เกษตรกรสังกัดอยู่ เพื่อสอบถามยอดหนี้ที่ต้องชำระทั้งหมด โดยสำนักงานสาขาจังหวัดจะออกใบแจ้งหนี้ พร้อมยอดเงินที่ต้องชำระให้เกษตรกร และ เกษตรกรจะต้องนำใบแจ้งการชำระเงินดังกล่าวไปชำระได้ที่เคาร์เตอร์ธนาคาร ธกส. หรือ ชำระผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ ตามที่ปรากฏในใบแจ้งการชำระเงิน หากได้ทำการชำระยอดเงินตามที่ปรากฏในใบแจ้งหนี้แล้ว ให้เกษตรกรเข้าไปติดต่อที่สำนักงานสาขาจังหวัด เพื่อยื่นเรื่องขอปิดบัญชี และ ไถ่ถอนหลักประกัน ตามแบบฟอร์มที่สำนักงานกำหนด

  • Q : สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ตั้งอยู่ที่ใด
  • A : สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (สำนักงานใหญ่ ) อาคาร ซีอีซี(CEC) เลขที่ 68/12 ชั้น 4 ถ.กำแพงเพชร6 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900