วันที่ 27 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 3/2565

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในฐานะเลขานุการเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีวาระที่สำคัญดังนี้

เรื่องเพื่อทราบ 2 เรื่อง

• รายงานสถานะทางการเงินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2565

• รายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

เรื่องเพื่อพิจารณา 5 เรื่อง

• อนุมัติกรอบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 962,411,932.00 บาท ประกอบด้วย งบเพื่อจัดการหนี้ของเกษตรกร 92,465,104 บาท งบเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 65,000,000 บาท และงบบริหารสำนักงาน 687,230,230 บาท

• เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ดำเนินการจัดการหนี้ได้ตามอำนาจหน้าที่ จำนวน 5,609 ราย 17,650 บัญชี มูลหนี้รวม 4,091,054,397.72 บาท

• เห็นชอบรายชื่อและอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้แก่เกษตรกร เพิ่มเติม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 55 จำนวน 35 ราย 35 บัญชี ยอดเงินรวม 73,980,930.87 บาท

• อนุมัติให้นิติบุคคลเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้ กฟก.สามารถจัดการหนี้ให้เกษตรกรได้ จำนวน 2 สถาบันการเงิน ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

• เห็นชอบระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล และสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กฟก. 2 เรื่อง ได้แก่ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการ กฟก. ว่าด้วยการเบิกค่าเช่าบ้านของพนักงาน กฟก. พ.ศ. … และ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการ กฟก. ว่าด้วยการขนย้ายสิ่งของส่วนตัวในการเดินทางปฏิบัติงานประจำในราชอาณาจักร พ.ศ. …

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กฟก. ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้รับการจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานี้ ผลงานของ กฟก. เกิดเป็นรูปธรรมทุกด้าน ขอให้เจ้าหน้าที่ของ กฟก.ทุกท่านทำงานด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ตนในฐานะประธานบอร์ดพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

อ่านต่อ

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ด้วยคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัด ได้ครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ ไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา และเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการสรรหาอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัด 77 จังหวัด ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร   ว่าด้วยการกระจายอำนาจการบริหาร พ.ศ. 2556 จึงประกาศรับสมัครอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 – 27 กรกฎาคม 2565 ในวันและเวลาราชการ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรเกษตรกรทั้งด้านการฟื้นฟูอาชีพ และการจัดการหนี้ให้เกษตรกรสมาชิก

นายสไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า สัดส่วนของคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรเกษตรกร จำนวน 8 คน ผู้แทนภาคราชการและผู้แทนภาคเอกชน จำนวน 8 คน หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง วิธีการรับสมัครและการเสนอชื่อบุคคลเพื่อคัดเลือก ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ด้วยตัวเอง หรือองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน  ต่อสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในเขตจังหวัดเสนอชื่อ หรือ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ เสนอชื่อ หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ประกอบด้วย ใบสมัคร รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก ขนาด 1 ½ นิ้ว x 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาประจำตัวบัตรประชาชน จำนวน 1 ชุด สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด รายงานการประชุมคณะกรรมการองค์กรเกษตรกรที่มีมติมอบหมาย หรือหนังสือมอบหมายจากหน่วยงาน จำนวน 1 ชุด กรณีเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ให้ใช้บัตรประจำตัวข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ หรือหนังสือรับรองการเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐจากหน่วยงานที่สังกัด จำนวน 1 ชุด ยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดตามที่อยู่ขององค์กรเกษตรกร หน่วยงานภาคเอกชนและส่วนราชการในจังหวัดนั้น ๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หมายเลขโทรศัพท์ 0 2158 0342 หรือสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร www.frdfund.org หรือ เฟสบุ๊คเพจ : สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

อ่านต่อ

วันที่ 18 พ.ค. 65 ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้จัดกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีอายุครบ 23 ปี โดยมี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานบริหารคนที่ 1 นายสำเริง ปานชาติ รองประธานบริหารคนที่ 2 นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พนักงานและลูกจ้างทุกระดับ ได้ร่วมพิธีทำบุญครบรอบ วันสถาปนากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 23 ปี พร้อมนี้ยังได้ทำการถ่ายทอดสดผ่านระบบ conference ไปยังสำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 77 แห่ง ภายใต้ความปลื้มปิติของคณะผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกคน

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้กล่าวปาฐกถา ในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 23 ปี ภายใต้แนวคิด “สำนึกอดีต เข้าใจปัจจุบัน มุ่งมั่นอนาคต” ที่ยังมีจุดยืนเดิมที่เข้มแข็งพร้อมก้าวเดินต่อไปเพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกรตามเจตนารมย์ ที่ได้ก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ

เลขาธิการ สำนักงาน กฟก. กล่าวว่ากว่าจะได้มาซึ่งการเป็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรผ่านการต่อสู้ที่มุ่งมั่นของพี่น้องเกษตรกรมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาจนกระทั่งได้เป็นกฎหมายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเมื่อปี 2542 ถึงวันนี้ครบ 23 ปี และก้าวสู่ปีที่ 24 แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ดูแลรับใช้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมกับที่เกษตรกรได้ต่อสู้เรียกร้องจนได้กฎหมายมาเป็นของตนเอง จึงอยากให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของเกษตรกรเป็นลำดับแรก

อ่านต่อ

เพื่อทำบันทึกข้อตกลงแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร ตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ 4 แบ้งก์รัฐ

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้มีการเจรจากับสถาบันการเงิน ได้แก่  ธ.ก.ส. SME Bank ธนาคารออมสิน บมจ.กสิกรไทย จำกัด บมจ.ทหารไทยธนชาติ จำกัด บมจ.กรุงไทย จำกัด เพื่อร่วมหาแนวทางและจัดทำกรอบบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือ (MOU) ตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กรณีธนาคารของรัฐ 4 แห่ง และการจัดการหนี้ให้สมาชิกตาม พ.ร.บ. โดยมีตัวแทนจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร กฟก. คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร รองเลขาธิการ และหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมเจรจานำไปสู่การจัดทำ MOU ฉบับสมบูรณ์

ข้อสรุปจากการหารือ สถาบันการเงินยินดีให้ความร่วมมือและร่วมกันจัดทำร่าง MOU เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตรกรต่อไป

อ่านต่อ

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. มอบนโยบายการดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กรณีธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 65 และการใช้จ่าย งบประมาณกลางปี 65 ให้แก่สำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำชับให้สาขาจังหวัดปิดประกาศรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ปรับโครงสร้างหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง จำนวน 50,162 ราย เพื่อให้องค์กรและเกษตรกรสมาชิกรับทราบและมารายงานตัวเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ 2 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

นายสไกรกล่าวว่า สำนักงานได้เตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินงานไว้แล้ว เช่น การทำแบบรายงานตัวเข้าร่วมโครงการ การทำแบบรายงานตัวเข้าร่วมการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ (ผค. 1/4) และแบบการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกร ขณะนี้มีความพร้อมทุกด้านแล้ว ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณงบกลางปี 2565 ที่รัฐบาลจัดสรรให้ กฟก. จำนวน 2,000 ลบ. แยกเป็น เพื่อซื้อหนี้ 1,500 ลบ. เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูอาชีพ 270 ลบ. และบริหารสำนักงาน 230 ลบ. การใช้จ่ายต้องเป็นไปตามที่ตกลงไว้กับสำนักงบประมาณ หากมีการเปลี่ยนแปลงการ ใช้จ่ายรายการใดจะต้องทำบันทึกรายงานให้สำนักงบประมาณทราบ และต้องใช้งบประมาณให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้ หากมีงบประมาณเหลือจ่ายต้องคืน สำนักงบประมาณ การเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายต้องทำรายงานให้สำนักงบประมาณรับทราบก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 เดือน จึงจะอนุมัติใช้จ่ายได้ หากไม่จำเป็นไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายงบประมาณ การประชุมชี้แจงการดำเนินงานด้านการใช้จ่ายงบประมาณงบกลางให้กับสาขาจังหวัดได้ดำเนินการครบทั้ง 4 ภาคแล้ว หลังจากนี้สำนักงานสาขาจังหวัดจะเริ่มลุยงานในพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

อ่านต่อ

วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. เปิดเผยว่า วันนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง จำนวน 50,621 ราย งบประมาณ 9,282,916,882.25 บาท โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

โดยให้เกษตรกรฯ ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมโดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี สำหรับการชดเชยเงินต้นร้อยละ 50 ในส่วนที่เกษตรกรไม่ต้องรับภาระ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 50,621 ราย รัฐจะรับภาระในการจัดสรรเมื่อเกษตรกรได้ชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดรายละเอียดและแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น

ในส่วนของการขอยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคารรัฐ 4 แห่ง ให้ กษ. ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้ได้ข้อยุติที่เหมาะสมแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. รับทราบการยกเลิกหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน

3. ให้ กษ. ประสานกระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เกษตรกร จำนวน 50,621 ราย ได้รับการแก้ปัญหาหนี้สินของตนในกรอบการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือนของ คจพ. ด้วย

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขอขอบคุณคณะรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะประธานกรรมการ กฟก. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานกรรมการ กฟก. นายไชยยศ จิรเมธากร เลขานุการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ คณะกรรมการจัดการหนี้ ผู้แทนเกษตรกรทั้ง 4 ภูมิภาค องค์กรเกษตรกรทุกกลุ่มที่ช่วยผลักดันให้โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบ นับเป็นภารกิจที่ กฟก. ได้รับมอบหมายในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้สมาชิกทั่วประเทศซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามนโยบายของรัฐบาล รักษาที่ดินทำกิน เกษตรกรได้พักฟื้นเรื่องหนี้ ฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

อ่านต่อ

วันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น. ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์แถลงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในรอบ 2 ปี ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ โดยมีนายไชยยศ จิรเมธากร   รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คณะกรรมการ กฟก. คณะกรรมการบริหาร และ คณะกรรมการจัดการหนี้ นายสไกร    พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กฟก. ร่วม รับฟังการแถลงข่าวด้วย

นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ กฟก. ได้ดำเนินงานไปแล้วหลายประการ ดังนี้ มีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 5,670,659 ราย คิดเป็นองค์กร 56,284 องค์กร ขึ้นทะเบียนเพื่อขอให้ กฟก.ช่วยเหลือด้านหนี้สิน จำนวน 535,871 ราย 769,220 บัญชี วงเงิน 107,119,587,129.52 บาท สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตรกรได้ทั้งสิ้น 1,857 ราย เป็นหนี้รวม 1,514 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดแยกเป็น ซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแล้ว ให้เกษตรกรมาเป็นหนี้ กฟก. แทน โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยและไม่มีการยึดที่ดินจนกว่าเกษตรกรจะผ่อนชำระหนี้ครบ จำนวน 1,695 ราย วงเงิน 1,347 ล้านบาท และ กฟก. เข้าไปซื้อทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือกำลังขายทอดตลาด จำนวน 162 ราย วงเงิน 167 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้มีความคืบหน้าไปมากภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ

และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาชะลอไม่ให้เกษตรกรถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี ขายทอดตลาดอีกจำนวน 11,472 ราย วัตถุประสงค์อีกด้านของ กฟก. นั้น มีนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็งภายหลังที่ได้รับการจัดการหนี้ มีการอนุมัติโครงการเพื่อการฟื้นฟูอาชีพไปแล้ว จำนวน 551 โครงการ วงเงิน 313,181,445 บาท สมาชิกร่วมโครงการ 9,107 ราย

สำหรับการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมมีมติสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่

  • เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ซึ่งเป็นกลไกหลักของคณะกรรมการ กฟก. ในการแก้ไขปัญหาหนี้ ไปดำเนินการจัดการหนี้ให้เกษตรกรเพิ่มเติมอีก 5,277 ราย วงเงิน 3,533 ล้านบาท
  • มีมติให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ซื้อทรัพย์ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA เพิ่มเติมอีก 35 ราย วงเงิน 52.7 ล้านบาท
  • ให้ปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการ กฟก.เพื่อให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ไปซื้อทรัพย์ที่หลุดมือจากเกษตรกรไปหลายทอด แต่เกษตรกรยังหวังที่จะให้ทรัพย์กลับคืนมา โดยให้มาเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลของ กฟก. และเกษตรกรมาผ่อนชำระคืนจนกว่าจะครบตามสัญญา เป้าหมายหลักในเรื่องนี้คือต้องการรักษาหลักทรัพย์หรือที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร
  • เห็นชอบการจัดสรรเงินงบกลางที่ ก.เกษตรฯ กับ กฟก. เสนอขอต่อ ครม. โดย ครม. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 65 และเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 65 สำนักงบประมาณ ได้โอนเงิน ให้ กฟก. แล้ว ซึ่งสามารถนำงบประมาณไปดำเนินการตามกรอบและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แยกเป็น 1) เพื่อการบริหารสำนักงาน เป็นเงิน 230,382,500 บาท 2) เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นเงิน1,500 ล้านบาท เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,425 ราย และ 3) เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงิน 269,617,500 บาท เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 42,034 ราย 776 องค์กร

อ่านต่อ

วันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานกองทุน ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ NT Conference โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานการประชุม

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีมติ ที่สำคัญดังนี้

วาระเพื่อทราบ 3 วาระ ประกอบด้วย

1. โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง

2. คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566

3. รายงานสถานะการเงิน งบประมาณและการบริหารงบประมาณปี 2565

วาระเพื่อพิจารณา 6 วาระ ประกอบด้วย

1. เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ดำเนินการจัดการหนี้ให้เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับ กฟก.

2. เห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิก กฟก. ที่เป็นหนี้ NPA (เพิ่มเติม) และอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้เกษตรกร ตามมติ ครม. 10 เม.ย. 55

3. เห็นชอบกำหนดสถาบันเจ้าหนี้เป็นนิติบุคคล (เพิ่มเติม) จำนวน 1 แห่ง คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด

4. เห็นชอบระเบียบคณะกรรมการบริหาร กฟก.ว่าด้วยการช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ. …

5. เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการ กฟก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการทรัพย์สินหลักประกันของเกษตรกรที่ได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อการชำระหนี้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …

6. เห็นชอบกรอบแผนและการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนี้

– เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน ไตรมาสที่ 3-4 (งบบุคลากร งบดำเนินงาน) งบประมาณ 230,382,500 บาท

– การแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นเงิน1,500 ล้านบาท เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,425 ราย

– การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงิน 269,617,500 บาท เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 42,034 ราย 776 องค์กร

อ่านต่อ

วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติงบประมาณกลางปี 2565 ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 2,000 ล้านบาท ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองประธานกองทุนฟื้นฟูฯ และดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิก กฟก. สำหรับงบประมาณที่ได้รับในครั้งนี้ เนื่องจาก กฟก. มีงบประมาณไม่เพียงพอเพราะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 จึงจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อมาดำเนินการภารกิจช่วยเหลือเกษตรกรดังนี้ 1. งบประมาณจำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้แทนเกษตรกรจำนวน 3,425 ราย 4,416 สัญญา 2. งบประมาณจำนวน 269,617,500 บาท เพื่อนำไปฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสมาชิกองค์กร และ 3. งบประมาณจำนวน 230,382,500 บาท เพื่อบริหารสำนักงาน

นอกจากนี้สำนักงาน กฟก.ขอบคุณคณะกรรมการบริหาร โดย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล นายสำเริง ปานชาติ นายศรายุทธ ยิ้มยวน คณะกรรมการ จัดการหนี้ของเกษตรกร โดย นายจารึก บุญพิมพ์ นายสมศักดิ์ โยอินชัย นางนิสา คุ้มกอง นายดรณ์ พุมมาลี นายประสิทธิ์ บัวทอง นายนพรัตน์ เผ่าวัฒน์ชัย นายนวคม เสมา รวมถึงคณะกรรมการจัดการหนี้ทุกท่าน สมาชิกเกษตรกรกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) และกลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ร่วมกันผลักดันของบประมาณ 2,000 ล้านบาท จนได้รับความ เห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งโครงการนี้จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรได้มากกว่า 3,425 ราย จำนวน 5,000 ไร่ เกษตรกรได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูอาชีพจำนวน 42,034 ราย จำนวน 776 องค์กร มีโอกาสฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้นำไปชำระหนี้ตามกำหนด และทำให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพทางผลผลิต การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป การตลาด และพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ต่อไป

อ่านต่อ